ศาสนากับความยากไร้

การรวมศูนย์อำนาจนี้ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง ประชาชนท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน เกิดความรู้สึกว่าคนไทยภาคกลางเข้ามามีอำนาจเหนือคนไทยเชื้อสายลาว และชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสานยากจนลง อันเนื่องมาจากความแห้งแล้งของผืนแผ่นดินและการถูกดูดทรัพยากรเข้าสู่ส่วนกลาง ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่คนอีสานต่อรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ
   

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา มีความพยายามที่จะรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง โดยการส่งเจ้านายจากกรุงเทพฯไปปกครองตามหัวเมืองทั่วประเทศ แทนเพียงการรับเครื่องบรรณาการจากเจ้าเมืองท้องถิ่นต่างๆ มาแต่เดิม การรวมศูนย์อำนาจนี้ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง ประชาชนท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน เกิดความรู้สึกว่าคนไทยภาคกลางเข้ามามีอำนาจเหนือคนไทยเชื้อสายลาว และชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสานยากจนลง อันเนื่องมาจากความแห้งแล้งของผืนแผ่นดินและการถูกดูดทรัพยากรเข้าสู่ส่วนกลาง ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่คนอีสานต่อรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ

กรณีกบฏ "องค์มาน"

ในปี พ.ศ.2443 (ร.ศ.119) เกิดข่าวลือใไปทั่วทั้งภาคอีสานเกี่ยวกับคำทำนายที่มาจากใบลานว่า ในเดือนที่สามหรือสี่แห่งรัตนโกสินทร์ศก 120 จะเกิดเหตุเภทภัยขึ้นในแผ่นดิน เงินทองจะกลายเป็นก้อนกรวด และก้อนกรวดจะกลับกลายเป็นเงินทอง สุกรและควายเผือกที่มีเขาผิดแปลกจากปกติจะกลายเป็นยักษ์ และจะจับมนุษย์กลืนกินเป็นอาหารผลน้ำเต้าและฟักทองจะกลายเป็นช้างม้า แล้วท้าวธรรมิกราชผู้เป็นกษัตริย์ที่ทรงคุณธรรมจะลงมาปกครองโลก ใครก็ตามที่ต้องการจะรอดพ้นไปจากหายนภัยครั้งนี้ จะต้องบอกต่อให้คนอื่นฟังถึงคำทำนายนี้ ผู้ที่ไม่มีบาปควรจะเก็บสะสมก้อนกรวดไว้ รอเวลาที่ท้าวธรรมิกราชจะมาเปลี่ยนก้อนกรวดให้เป็นเงินทอง ผู้ที่เคยทำบาปควรจะชำระตนเองให้บริสุทธิ์ ด้วยการนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีประพรมน้ำมนต์ผู้ที่กลัวความตายควรจะฆ่าหมูและควายก่อนที่มันจะกลายเป็นยักษ์กินคน หญิงสาวที่ยังไม่ได้แต่งงานควรจะรีบแต่งงานก่อนที่ยักษ์จะมาจับกินเป็นอาหาร

ภายใต้สภาวการณ์ดังกล่าวได้เกิดกลุ่มบุคคลที่นุ่งขาวห่มขาวอ้างตัวว่าเป็น "ผู้วิเศษ" และดึงดูดผู้คนด้วยการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ให้ปรากฏ ชาวบ้านเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า "ผู้มีบุญ"ในไม่ช้าชาวบ้านก็มารวมตัวกันภายใต้การนำและการปกป้องคุ้มครองของผู้มีบุญ ในบรรดาผู้มีบุญทั้งหลายนั้น "องค์มาน"ซึ่งอ้างตัวว่าเป็น"เจ้าปราสาททอง"และ "ท้าวธรรมิกราช"มีบทบาทโดดเด่นที่สุด ในปี พ.ศ.2444 องค์มานได้ข้ามจากสุวรรณเขตในฝั่งประเทศลาว เข้ามายังอุบลราชธานีซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลอีสานในขณะนั้น โดยได้รับการสนับสนุนจากหลวงวิชา (ซึ่งต่อมารู้จักกันในนามของ "องค์ฟ้า") และมีกลุ่มผู้สนับสนุนประมาณ 200 คนเมื่อองค์มานและพวกได้เคลื่อนพลพรรคไปยังเขมราชเพื่อรวบรวมไพร่พลให้มากขึ้น ก็ต้องพบกับการต่อต้านจากผู้ว่าราชการจังหวัด องค์มานได้จับรองผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าหน้าที่รัฐ(ตำแหน่งกรมการ) อีกคนหนึ่งไปสำเร็จโทษและจับผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นตัวประกัน

เมื่อเคลื่อนพลมาถึงบ้านสาโพธิ์ใหญ่ องค์มานก็ได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้ชาวบ้านดู ด้วยการยิงปืนคาบศิลาที่บรรจุด้วยทรายแทนดินปืนและทำพิธีรดน้ำมนต์ให้แก่ผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ผู้วิเศษอีก 6 คน พร้อมกลุ่มได้เข้ามาร่วมสมทบ จนกองกำลังเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1,000 คนโดยแบ่งเป็นหน่วยรบภายใต้การบังคับบัญชาของผู้วิเศษแต่ละคน องค์มานได้ออกคำสั่งให้หน่วยเสบียง หน่วยปืนคาบศิลา และหน่วยอาวุธอื่นๆ เตรียมพร้อมเพื่อเคลื่อนพลไปยังอุบลราชธานี ผู้บัญชาการมณฑลอีสานได้ส่งกองตำรวจลาดตระเวนไปยังบ้านสาโพธิ์ใหญ่เพื่อเข้าทำการจับกุม แต่เมื่อต้องเผชิญหน้ากับองค์มาน ตำรวจลาดตระเวนเหล่านั้นซึ่งเป็นลูกอีสานเกิดตกใจกลัวละทิ้งหน้าที่หลบหนีไป เหตุการณ์นี้ทำให้องค์มานและพลพรรคเกิดความฮึกเหิมยิ่งขึ้น

ผู้บัญชาการมณฑลอีสานซึ่งมีกำลังในมือน้อยกว่า 500 คน (มีเพียง 200 คนเท่านั้นที่เป็นทหารจากกรุงเทพฯ นอกนั้นเป็นทหารเกณฑ์ชาวอีสาน) ได้สั่งให้ผู้บังคับการกรมทหารราบจากอุบลราชธานี ส่งหน่วยทหารพร้อมอาวุธครบมือจำนวน 12 คน ไปยังบ้านสาโพธิ์ใหญ่หน่วยทหารนี้ได้เผชิญหน้ากับพลพรรคขององค์มานซึ่งมีกำลังเหนือกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ที่บ้านครู จึงล่าถอยไปที่บ้านเกษม ระหว่างทางได้ถูกฝ่ายองค์มานดักโจมตี หัวหน้าหน่วยถูกจับได้ทหารหนีไปได้เพียงคนเดียว นอกนั้นถูกฆ่าตายทั้งหมด ผู้บัญชาการมณฑลอีสานจึงตัดสินใจส่งกองทหารขนาดใหญ่ ประกอบด้วยทหารกรุงเทพฯจำนวน 100 คน และกองทหารอาสาสมัครอีสานอีกจำนวนหนึ่ง พร้อมด้วยปืนใหญ่ 2 กระบอก เข้าปราบปรามฝ่ายองค์มาน ผลของปฏิบัติการครั้งนี้ก็คือ กำลังพลของฝ่ายองค์มานถูกสยบลงด้วยการยิงปืนใหญ่ 4 ชุด ยังผลให้มีผู้ล้มตายถึง 300 คน และอีกกว่า 400 คนถูกจับได้ องค์มานเองอาศัยจังหวะที่เกิดการชุลมุนปลอมตัวเป็นชาวนาหนีข้ามแม่น้ำโขงไปยังฝั่งลาว

เมื่อปราบกบฏองค์มานได้แล้วผู้บัญชาการมณฑลอีสานมีคำสั่งให้กวาดล้าง "ผีบุญ" (คำของทางราชการ) อีก 5 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์มานและมีอิทธิพลอยู่ในภาคอีสาน ซึ่งรวมถึง"พระครูอิน"พระสงฆ์จากบ้านสำราญในยโสธรและ "กำนันสุ่ย"แห่งบ้านสานมินในเกษมสีมาบรรดาหัวหน้าทั้งหลายที่มิใช่พระสงฆ์ได้ถูกจับกุมและส่งตัวกลับไปยังถิ่นของตน และถูกประหารชีวิตที่นั่นเพื่อมิให้คนอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ส่วนพระสงฆ์นั้นถูกจำกัดบริเวณอยู่แต่ในวัด โดยถูกขู่ว่าถ้าสึกเมื่อไหร่ก็จะถูกจับจำคุกตลอดชีวิตทันที

คุณลักษณะขบวนการ

"ผู้มีบุญ"รลุกฮือขึ้นของกลุ่มองค์มานเป็นเพียงกตัวอย่างเดียวของขบวนการ "ผู้มีบุญ"ซึ่งมีอยู่มากมายในภาคอีสาน การลุกฮือขึ้นของชาวบ้านในเสรภูมิเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ผู้บัญชาการนครราชสีมาต้องส่งกำลังทหารถึง 1,140 นายเข้าปราบปราม (ในจำนวนนี้ 620 นาย ไปจากบุรีรัมย์และโคราช และอีก 520 นายเป็นทหารเกณฑ์จากยโสธร) ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2445 "ผู้มีบุญ"จำนวน 43 คนถูกจับกุมในมณฑลอีสาน และอีก 54 คน ถูกจับในมณฑลอุดร และมีบันทึกว่าอีกอย่างน้อย 20 คน ถูกจับกุมในที่อื่นๆ ดังนั้นจำนวนทั้งหมดของ "ผู้มีบุญ"เฉพาะที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2445 เพียงปีเดียวก็มีกว่า 100 รายแล้ว

ขบวนการ "ผู้มีบุญ"ทั้งหมดแม้จะมีขนาดที่แตกต่างกัน แต่ก็มีรูปแบบพื้นฐานอันเดียวกันกล่าวคือ มี "ผู้วิเศษ"ที่อ้างตัวเป็นศาสดาพยากรณ์ ทำนายการมาถึงของ "วันสิ้นโลก"และประกอบพิธีรดน้ำมนต์เพื่อให้รอดพ้นจากหายนภัยนั้น จุดสำคัญของคำทำนายที่ว่าเงินทองจะกลายเป็นก้อนกรวดและก้อนกรวดจะกลายเป็นเงินทองนั้น เป็นการแสดงออกถึงความหวังสุดท้ายที่ว่า คุณค่าทางสังคมที่เป็นอยู่นี้จะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ และสังคมใหม่กำลังจะมาถึง และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นด้วยอำนาจของท้าวธรรมิกราช ยกเว้นองค์มานคนเดียวที่ประกาศตัวว่าเป็นท้าวธรรมิกราชเสียเอง "ผู้มีบุญ" รายอื่นๆ ไม่กล้ากล่าวอ้างเช่นนั้น เพียงแต่ประกอบพิธีรดน้ำมนต์แก่ไพร่พลผู้ติดตามด้วยความเชื่อที่ว่า จะช่วยให้มีชีวิตอยู่รอดเมื่อสังคมใหม่มาถึง

ขบวนการ "ผู้มีบุญ" ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2445 มิได้ตายไปพร้อมกับการปราบปรามครั้งใหญ่ของทางการ ในปี พ.ศ.2476 เกิดกบฏ "ผู้มีบุญ"ขึ้นอีกที่บ้านหนองหมากแก้ว ตำบลหนองแดง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย แม้ว่าจะมีขนาดที่เล็กกว่าก็ตาม โดยชาวชัยภูมิคนหนึ่งชื่อ "บุญมา"ได้ดึงดูดชาวนาท้องถิ่นเป็นจำนวนมากด้วยการแสดง "อิทธิปาฏิหาริย์"และทำนายว่ายุคแห่งยักษ์กินคนกำลังจะมาถึงแล้ว บุญมาอ้างว่า ตนเองมาจากสวรรค์ลงมาเพื่อช่วยมนุษย์ให้รอดพ้น นอกจากทำพิธีรดน้ำมนต์แล้วเขายังได้แจกเครื่องรางของขลังและผ้ายันต์อีกด้วย รายงานระบุว่าบุญมามีผู้ติดตามถึงกว่า 1,000 คน และเมื่อสบโอกาสบุญมากับพลพรรครวม 23 คน ได้เข้ายึดสถานีตำรวจวังสะพุง แต่ก็ถูกปราบปรามลงในที่สุด

ขบวนการ "ผู้มีบุญ"ครั้งหลังสุดเกิดขึ้นในปีพ.ศ.2502 ที่อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมาหัวหน้าเป็นชาวอุบลราชธานีชื่อ "จัน ศีลา"อ้างตนว่าเป็นอวตารของรัชกาลที่ 5 มีผู้ติดตามกว่า100 คน ได้เข้ายึดบ้านจงทำเล ตำบลบ้านใหม่ไทยเจริญ อำเภอโชคชัย และประกาศตนไม่ขึ้นต่อทางการ ผลจากการปะทะกับตำรวจทำให้มีผู้ล้มตายและบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย

คุณลักษณะของขบวนการ"ผู้มีบุญ"ก็คือทั้งหมดเกิดขึ้นในภาคอีสานของไทย เป็นปรากฏการณ์เฉพาะของอีสาน ดินแดนที่แห้งแล้งของชาวไทยเชื้อสายลาว จึงเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจของผู้คน รวมทั้งความรู้สึกที่ไม่พอใจต่อการใช้อำนาจและการปฏิบัติจากส่วนกลาง จนปะทุขึ้นเป็นการต่อต้านรัฐบาลในที่สุด ขบวนการ "ผู้มีบุญ"จึงเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่แยกกันไม่ออก ระหว่างความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจ ความไม่พอใจทางการเมือง และความเชื่อท้องถิ่นของชาวอีสาน

บทสรุป

ขบวนการ"ผู้มีบุญ"(ซึ่งถูกทางราชการขเรียกว่า "กบฏผีบุญ") ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อในลัทธิ "วันสิ้นโลก" ซึ่งเป็นอภิปรัชญาของผู้ด้อยโอกาสในสังคม หรือของผู้ที่ไม่พอใจต่อสภาพชีวิตและสังคมที่เป็นอยู่ลัทธิ"วันสิ้นโลก"จะย้ำคำสอนที่ว่า วาระสุดท้ายของโลกกำลังจะมาถึงแล้ว ระบบอำนาจและสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันกำลังจะถึงกาลอวสาน "ผู้มีบุญ"จะมาเกิดเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่เชื่อในคำสอนนี้ ลัทธิ "วันสิ้นโลก"จึงเป็นศาสนาของผู้ถูกกดขี่ เป็นไสยศาสตร์ทางอภิปรัชญาที่ปลอบประโลมใจของคนทุกข์ยากหรือคนสิ้นหวัง ให้เกิดความหวังว่าสังคมใหม่กำลังจะมาถึง

คำสอนนี้จะปรากฏในยุคสมัยที่ผู้คนทุกข์เข็ญไร้ที่พึ่งและไร้ทางออก และอาจจะกลายเป็นพลังที่ผลักดันให้เกิดการลุกฮือครั้งใหญ่ได้ เช่นการลุกฮือของประชาชนชาวอีสานภายใต้การนำของ "ผู้มีบุญ" ในระหว่างปี พ.ศ.2445 ถึงพ.ศ.2502 หรือการร้องรำทำเพลงเพื่อต้อนรับ"ผู้มาโปรดใหม่" ของชนพื้นเมืองอินเดียแดงในทวีปอเมริกา ในห้วงเวลาแห่งความสิ้นหวังที่ถูกคนขาวเข่นฆ่าปราบปราม
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 11728 คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo