ยาสุคุนิ : ชินโตแห่งสงคราม

"ชินโตแห่งรัฐ" ได้ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรล้มเลิกลงโดยสิ้นเชิง และยุติการเป็นศาสนาแห่งรัฐตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การเดินทางไปคารวะสุสาน "ยาสุคุนิ" ของนายกรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาของญี่ปุ่น จึงอาจถูกตีความได้ว่า เป็นความพยายามที่จะรื้อฟื้น "ชินโตแห่งรัฐ" หรือส่งสัญญาณฟื้นฟู "ชินโตแห่งสงคราม" ขึ้นมาใหม่ พร้อมกับการบิดเบือนประวัติศาสตร์ในตำราเรียน และการเพิ่มงบประมาณทหารของรัฐบาลญี่ปุ่นปัจจุบัน
 

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อเร็วๆ นี้นายกรัฐมนตรีจุนอิชิโร โคอิซูมิ แห่งญี่ปุ่น ได้เดินทางไปคารวะสุสานทหารผ่านศึกที่ศาลเจ้า "ยาสุคุนิ" (Yasukuni Shrine) ท่ามกลางการประท้วงของจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และประเทศเอเชียอื่นๆ ที่เคยได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะที่สถานการณ์กำลังตึงเครียดอยู่นั้น สมาชิกรัฐสภาของญี่ปุ่นอีกกว่า 100 คน ก็ได้เดินทางไปสักการะสุสาน "ยาสุคุนิ" อีก นับเป็นการท้าทายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความรู้สึกอันขมขื่นที่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เคยได้รับจากความโหดร้ายทารุณของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลก รัฐบาลจีนได้ประท้วงโดยการเลื่อนกำหนดการเยือนจีนของรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ศาลเจ้า "ยาสุคุนิ" ก่อตั้งขึ้นโดยพระจักรพรรดิญี่ปุ่นสมัย "เมจิ" เมื่อปี พ.ศ.2412 (ค.ศ.1869) ที่กรุงโตเกียว เพื่อเป็นสุสานทหารผ่านศึกที่เสียชีวิตตั้งแต่ก่อนและหลังสมัย "เมจิ" เรื่อยมาเป็นเวลากว่า 100 ปี จนกระทั่งถึงยุคสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง จำนวนทหารและผู้เสียชีวิตอื่นๆ ที่ถูกฝังอยู่ในสุสานแห่งนี้นับรวมได้กว่า 2,500,000 คน รวมทั้งบรรดา "อาชญากรสงคราม" ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองด้วย

นับตั้งแต่ยุคสมัย "เมจิ" (Meiji) สมัย "ไทโช" (Taisho) ตลอดจนถึงสมัย "โชวะ" (Showa) มีพระจักรพรรดิญี่ปุ่นเสด็จเยือนศาลเจ้าแห่งนี้รวม 77 ครั้ง พระจักรพรรดินี มกุฎราชกุมาร และพระประยูรญาติในสมัยต่างๆ เสด็จเยือนสุสานแห่งนี้อีกนับจำนวนไม่ถ้วน มีงานเทศกาลที่สุสานแห่งนี้ปีละ 2 ครั้ง คือ ระหว่างวันที่ 21-23 เมษายน ในฤดูใบไม้ผลิ และระหว่างวันที่ 17-20 ตุลาคม ในฤดูใบไม้ร่วง ในทุกปีญาติพี่น้องหรือลูกหลานของทหารผ่านศึกที่เสียชีวิต จะพากันหลั่งไหลไปสักการะดวงวิญญาณของผู้ตายอย่างเนืองแน่น

ภายในอาณาบริเวณของศาลเจ้า "ยาสุคุนิ" มีพิพิธภัณฑ์สงครามขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า "ยูชูคาน" (Yushukan) ตั้งอยู่ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2425 (ค.ศ. 1882) นับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น ภายในพิพิธภัณฑ์นอกจากจะมีภาพยนตร์ที่ถ่ายจากสมรภูมิจริงในสงครามโลกแล้ว ยังมีสิ่งของต่างๆ ที่หลงเหลือจากสงครามแสดงให้ดูจำนวนกว่า 100,000 รายการ รวมทั้งเครื่องบินขับไล่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง (รุ่น Mitsubishi Zero fighter) อีกด้วย

ถ้าหากญี่ปุ่นไม่ก่อสงครามโลกครั้งที่สอง โดยการยึดครองเกาหลี และรุกรานประเทศจีน รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในเอเชีย และทำทารุณกรรมทั้งต่อทหารและพลเรือนอย่างโหดเหี้ยมจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลกแล้ว การที่ชาวญี่ปุ่นรวมทั้งนายจุนอิชิโร โคอิซูมิ จะเดินทางไปเยือนศาลเจ้า "ยาสุคุนิ" เพื่อสักการะทหารผ่านศึกของญี่ปุ่นที่นั่น ก็คงจะไม่มีใครประท้วงอะไร แต่ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นที่ฝังศพของนายพลโตโจและนายทหารระดับสูง ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในฐานะอาชญากรสงครามในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองรวมอยู่ด้วย การเยือนศาลเจ้า "ยาสุคุนิ" ของนายกรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาของญี่ปุ่น จึงนับเป็นการเหยียบย่ำจิตใจของชาวเกาหลี ชาวจีน และชาวเอเชียทั้งหลาย ซึ่งเคยถูกทำทารุณกรรมจากบรรดาอาชญากรสงครามเหล่านี้ และสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นมิได้สำนึกผิดต่อการกระทำของตนเองในสงครามโลกครั้งที่สองแต่อย่างใด

ศาลเจ้า "ยาสุคุนิ" นับเป็นส่วนหนึ่งของศาสนา "ชินโต" (Shinto) อันเป็นศาสนาพื้นเมืองของญี่ปุ่น ศาสนาชินโตมีอิทธิพลต่อความคิดทางการเมืองและการทหารของชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างสูง ตามคัมภีร์ชินโตหมู่เกาะญี่ปุ่นได้ถูกสร้างขึ้นด้วยอำนาจของเทพเจ้า พระจักรพรรดิองค์แรกของญี่ปุ่นสืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ (Sun Goddess) และชนชาติญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่ได้รับการเลือกสรรจากเทพเจ้า ญี่ปุ่นจึงเป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้า

ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลังจากที่ญี่ปุ่นได้ปรับปรุงประเทศให้เป็นรัฐทันสมัย ได้มีการแบ่งศาสนาชินโตออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก "ชินโตแห่งรัฐ" (State Shinto) ซึ่งเป็นพิธีการของความรักชาติ ชาวญี่ปุ่นทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดจะต้องเข้าร่วมชินโตแห่งรัฐด้วยเสมอ ศาลเจ้า "ยาสุคุนิ" จัดอยู่ในชินโตแห่งรัฐนี้ และส่วนที่สอง "ชินโตแห่งนิกาย" (Sectarian Shinto) ซึ่งถือเป็นศาสนาหนึ่งที่มีการบูชาเทพเจ้าประจำธรรมชาติ

ภายหลังจากที่ญี่ปุ่นประสบชัยชนะทางทหารในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มีการแพร่ลัทธิความรักชาติอย่างขนานใหญ่ และขยายความคิดไปสู่การครอบครองโลก มีการนำเอาความเชื่อใน "ชินโตแห่งรัฐ" มาเป็นอุดมการณ์ปลุกลัทธิทหารขึ้นในประเทศ ดังข้อความตอนหนึ่งว่า "พระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นจะได้ทรงปกครองโลกทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักร การครอบครองโลกนี้จะกระทำด้วยสันติวิธี แต่ถ้าวิธีดังกล่าวไร้ผล ก็มีเหตุผลทีเดียวที่จะกระทำด้วยการใช้กำลังอาวุธ"

ในวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2489 (ค.ศ.1946) ภายหลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง พระจักรพรรดิฮิโรฮิโต (Hirohito) ได้ทรงออกประกาศซึ่งเปลี่ยนแปลงแนวความคิดของประชาชนที่เชื่อถือมาช้านานว่า "สายใยแห่งความผูกพันระหว่างเรากับประชาชนของเรา มิอาจจะขึ้นอยู่กับเพียงตำนานและเทพนิยายเท่านั้น จะต้องไม่มีการกล่าวอ้างต่อไปอีกถึงแนวความเชื่อผิดๆ ที่ว่า พระจักรพรรดิคือเทพเจ้า และชนชาติญี่ปุ่นสูงส่งกว่าชนชาติอื่นและถูกกำหนดมาให้ปกครองโลก พระจักรพรรดิมิใช่เทพเจ้า"

"ชินโตแห่งรัฐ" ได้ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรล้มเลิกลงโดยสิ้นเชิง และยุติการเป็นศาสนาแห่งรัฐตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การเดินทางไปคารวะสุสาน "ยาสุคุนิ" ของนายกรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาของญี่ปุ่น จึงอาจถูกตีความได้ว่า เป็นความพยายามที่จะรื้อฟื้น "ชินโตแห่งรัฐ" หรือส่งสัญญาณฟื้นฟู "ชินโตแห่งสงคราม" ขึ้นมาใหม่ พร้อมกับการบิดเบือนประวัติศาสตร์ในตำราเรียน และการเพิ่มงบประมาณทหารของรัฐบาลญี่ปุ่นปัจจุบัน
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 10109. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6. 

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo