ศาสนาในสันติภาพและความขัดแย้ง: การประชุม UNESCO ที่เมลเบิร์น

ที่ประชุมได้พิจารณา ถึง ปัญหาทั้งในระดับแนวความคิดและระดับกรณีศึกษา ในส่วนของแนวความคิดนั้นครอบคลุมถึงประเด็นต่างๆ เช่น “รัฐสมัยใหม่กับความรุนแรงทางศาสนา” “ความรุนแรงในนามของพระเจ้า” “ความรุนแรงและสิทธิมนุษยชน” “ลัทธิฟื้นฟูศาสนากับความรุนแรง” “การก่อการร้ายในนามศาสนาและการแก้ปัญหาในเชิงยุทธศาสตร์” “ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา” “การจัดการความหลากหลายทางศาสนา” “การส่งเสริมความกลมเกลียวในสังคมแห่งความหลากหลายทางศาสนา” “ผู้หญิงในฐานะผู้นำสันติภาพ” และ “การศึกษาเพื่อการมีคุณค่าร่วมกันและความเข้าใจระหว่างศาสนา” เป็นต้น
 

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ในระหว่างวันที่ 12 - 14 เมษายน พ.ศ. 2548 ที่ผ่านมา มีการประชุม ยูเนสโก (UNESCO) ว่าด้วยเรื่อง “ศาสนาในสันติภาพและความขัดแย้ง : ปฏิกิริยาต่อลัทธิหวนคืนสู่สังคมเก่าและการใช้ความรุนแรง“ (Religion in Peace and Conflict: Responding to Fundamentalism and Militancy) ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เป็นการประชุมที่เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิคโดยเฉพาะ โดยมีผู้แทนทั้งจากภาคการเมือง การศาสนา และนักวิชาการ จำนวนกว่า 70 คนจาก 15 ประเทศในภูมิภาคดังกล่าวเข้าร่วมประชุม

ที่ประชุมได้พิจารณา ถึง ปัญหาทั้งในระดับแนวความคิดและระดับกรณีศึกษา ในส่วนของแนวความคิดนั้นครอบคลุมถึงประเด็นต่างๆ เช่น “รัฐสมัยใหม่กับความรุนแรงทางศาสนา” “ความรุนแรงในนามของพระเจ้า” “ความรุนแรงและสิทธิมนุษยชน” “ลัทธิฟื้นฟูศาสนากับความรุนแรง” “การก่อการร้ายในนามศาสนาและการแก้ปัญหาในเชิงยุทธศาสตร์” “ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา” “การจัดการความหลากหลายทางศาสนา” “การส่งเสริมความกลมเกลียวในสังคมแห่งความหลากหลายทางศาสนา” “ผู้หญิงในฐานะผู้นำสันติภาพ” และ “การศึกษาเพื่อการมีคุณค่าร่วมกันและความเข้าใจระหว่างศาสนา” เป็นต้น

ในส่วนของกรณีศึกษาที่เฉพาะเจาะจงนั้นครอบคลุมประเด็นต่างๆ เช่น “การสร้างสันติภาพในเกาะมินดาเนา ฟิลิปปินส์” “การสร้างสันติภาพและความเชื่อมั่นในโมลัคคัส (Moluccas) อินโดนีเซีย “การสร้างสันติภาพในกัมพูชากับความร่วมมือระหว่างศาสนา” “ความร่วมมือระหว่างรัฐกับศาสนาในปาปัวนิวกินี” “การสร้างสันติภาพทางศาสนาในหมู่เกาะโซโลมอน” “บทบาทของศาสนากับการสร้างความเชื่อมั่นในหมู่เกาะฟีจิ” และ “ศาสนากับสันติภาพในภาคใต้ของประเทศไทย ” เป็นต้น

มีข้อมูลที่น่าสนใจจากที่ประชุม กล่าวคือ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา ความขัดแย้งส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมักเป็นความขัดแย้งภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติหรือศาสนาที่แตกต่างกัน โดยมีประชาชนกว่า 5 ล้านคนต้องสังเวยชีวิตในความขัดแย้งนั้น นอกจากนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจจากธนาคารโลกที่กล่าวถึงความขัดแย้งดังกล่าว เช่น

1. ประเทศที่ต้องพึ่งพารายได้ประชาชาติ (GDP) จากการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดความขัดแย้งในหมู่พลเมืองภายในประเทศ (civil conflict) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรายได้ประชาชาติ ลด ต่ำลง

2. ประเทศที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่กว้างใหญ่และควบคุมได้ยาก (เช่น ประเทศคองโก ในอัฟริกา) มีแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้งภายในมากกว่าประเทศที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เล็กและควบคุมได้ง่าย (เช่น ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น)

3. การศึกษาที่เน้นปลุกศรัทธาในศาสนา (Sectarian Education) มีส่วนในการนำไปสู่ความขัดแย้ง เพราะศาสนามีพลังในการปลุกจิตใจของผู้คนที่นับถือให้ทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาสนาชี้นำ การศึกษาจึงควรต้องจัดให้สมดุล

4. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินในด้านสังคมสงเคราะห์นั้น ถ้าให้อย่างเฉพาะเจาะจงกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เพียงอย่างเดียวหรือเป็นส่วนใหญ่แล้ว อาจ นำไปสู่ความขัดแย้งในประเทศหรือสังคมนั้นๆได้

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

“เราในฐานะตัวแทนของความเชื่อและความปรารถนาดี จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิค ที่ได้ประชุมกัน ณ เมืองเมลเบิร์น ระหว่างวันที่ 12 – 14 เมษายน ค.ศ. 2005 เพื่อพิจารณาบทบาทของ “ศาสนาในสันติภาพและความขัดแย้ง” นั้น

• รับรู้ว่า การใช้ความรุนแรงและลัทธินิยมความสุดโต่ง (Extremism) ที่ตั้งอยู่บนฐานทางศาสนานั้นเป็นภัยต่อชีวิตของผู้คนเป็นอันมาก

• ตระหนักถึง ความขัดแย้งและความรุนแรงที่ได้ทำลายชีวิตของผู้คนและชุมชน และบ่อนทำลายความก้าวหน้าในประเทศและในภูมิภาคของเรา

• ตระหนักว่า ความทุกข์ยากและความขัดแย้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระหว่างประเทศ ไม่สามารถจะแก้ไขได้ด้วยการละเมิดสิทธิของปัจเจกบุคคลและสิทธิของชุมชน

• ปรารถนา ที่จะเห็นการเยียวยาความเจ็บปวดและการแบ่งแยก ที่เกิดจากการขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรง

• ถูกบังคับด้วยจิตสำนึกและประเพณีทางศาสนาของเรา ในการ ที่จะทำงานเพื่อสันติภาพและใช้ชีวิตของเราร่วมกันโดยการเคารพซึ่งกันและกัน

• ยอมรับ ความสำคัญของบทบาทของบุคคลและชุมชนในศาสนา ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี และ ใน การสร้างสันติภาพ

• รับรู้ถึง การทำงาน บทบาท และความสำคัญ ขององค์การสตรีทางศาสนา ในการสร้างสันติภาพ

• และโดยแรงบันดาลใจ จากความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมคุณค่าของชีวิตมนุษย์ ว่าศักดิ์สิทธิ์และสูงส่ง

• ขอประกาศว่า เราปฏิเสธลัทธิก่อการร้าย และความรุนแรงทั้งทางตรงและเชิงโครงสร้าง ที่กระทำต่อพลเรือน และขอเรียกร้องให้ชุมชนและผู้นำทางศาสนา ให้ตั้งมั่นที่จะเคารพและเปิดกว้างในความหลากหลายและศักดิ์ศรีของประชาชนทุกคน

ด้วยเหตุดังกล่าว

• เราขอเรียกร้อง ผู้ที่ใช้ประโยชน์จากความเชื่อหรือประเพณีทางศาสนาในการส่งเสริมความรุนแรง ให้เคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีของประชาชนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสู้รบ สตรี และเด็ก

• เราขอเรียกร้องให้รัฐบาล ทำงานร่วมกับชุมชนทางศาสนา เพื่อยุติความรุนแรง ส่งเสริมความสมานฉันท์ทางสังคม และพัฒนาสังคมที่เท่าเทียมและมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย

และเรามุ่งมั่นที่จะ

• ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ในประชาชนทุกหมู่เหล่า และในระหว่างประเพณีทางความเชื่อที่หลากหลาย

• ยอมรับความแตกต่าง และสนับสนุนการเคารพในความหลากหลาย และสิทธิในการปฏิบัติตามประเพณี โดยสอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย

• รับผิดชอบที่จะทำงานร่วมกัน ในการแก้ไขปัจจัยทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งนำไปสู่ความรุนแรง และส่งเสริมความเกลียดชังและการแบ่งแยก

• ปฏิเสธและขอตำหนิ การใช้ศาสนาและความเชื่อในทางที่ผิด ในการส่งเสริมความรุนแรงและการแบ่งแยก และเร

เราขอปฏิญาณว่า จะใช้ทรัพยากรทั้งทางประเพณีความเชื่อและทางชุมชน เพื่อนำสันติภาพและความมั่นคงปลอดภัยมาสู่ภูมิภาคของเรา”.
--
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9906. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.

THAI CADET

 

© 2547-2567. จัดทำเป็นวิทยาทาน โดย THAI CADET

Made with Pingendo Free  Pingendo logo